การวิเคราะห์กรอบแนวทางการดำเนินโครงการ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง
นายสุวิศิษฐ์ แสงเอื้ออังกูร
กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในปัจจุบันเป็นประเด็นที่เป็นความท้าทายของโลก เนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ในหลากหลายมิติ โดยระดับความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในแง่ของเวลา สถานที่ ระดับความรุนแรงและความถี่ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพ วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงขีดความสามารถในการปรับตัวของระบบนิเวศหรือสังคมแต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศ ซึ่งอาจได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเกือบทุกสาขาการผลิตของระบบเศรษฐกิจ จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรและอาหาร เช่นในภูมิภาคที่อยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา) หากอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลทำให้ผลผลิตของธัญพืชสำคัญลดลงร้อยละ 5 – 10[1] อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และปัจจัยทางภูมิอากาศอื่น ๆ จะส่งผลกระทบตอปริมาณผลผลิตของภาคการเกษตรโดยตรง การเจริญเติบโตของภาคเกษตรไม่เพียงแต่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหากแต่ยังสัมพันธ์กับระบบกลไกตลาด กระบวนการทางธรรมชาติในระบบนิเวศ (Biophysical process) และความสัมพันธ์เกี่ยวของกันของพื้นที่ราบกับพื้นที่ชันตนน้ำ นอกจากนี้ การปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการกําหนดการเจริญเติบโตของภาคเกษตร จึงนับได้ว่าภาคการเกษตรเป็นภาคที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกที่มีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จังหวัดน่านกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พื้นที่ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงและประชากรในพื้นที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในขณะเดียวกัน การรุกล้ำ ทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำ เปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรที่เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ดินถล่ม อุทกภัย วาตภัยและภัยแล้ง ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้ง กิจกรรมทางการเกษตรที่มีการเผาทำลายเศษพืชหลังเก็บเกี่ยว ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน การใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลต่อการตกค้างในดิน สารพิษสะสมในพืชและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ และส่งผลต่อรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในยุคที่ผ่านมาของประเทศไทยและเกิดขึ้นจากเกษตรกรที่ยังคงขาดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่าน สามารถยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อภาคการเกษตรบนพื้นที่สูง
โครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อจัดทำโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนบนพื้นที่สูง งบประมาณของโครงการรวมทั้งสิ้น 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำการศึกษาวิจัยและแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อลดความเปราะบาง และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนบนพื้นที่สูงและระบบนิเวศในประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน และครอบคลุม โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดน่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
กิจกรรมในการขับเคลื่อนโครงการ
การดำเนินโครงการดังกล่าวจะขับเคลื่อนในลักษณะการสร้างจุดสาธิต โดยใช้แนวทางการเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture : CSA) ในพื้นที่เขตลุ่มน้ำแหง ในตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน โดยกิจกรรมที่จุดสาธิต ประกอบด้วย ประกอบด้วย การบริหารจัดการน้ำด้วยการขุดร่องน้ำแบบขั้นบันได (Keyline) และการพัฒนาระบบชลประทานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร ระบบบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์โดยใช้ระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) และส่งเสริมการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงจุดสาธิตการตรวจสอบย้อนกลับจากฟาร์มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผลลัพธ์จากการจัดทำจุดสาธิตจะสามารถช่วยลดความยากจน ในชุมชน ทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้น เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรไปสู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างอาชีพนอกภาคการเกษตร เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นวิถีชีวิตทางเลือกใหม่ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมสุขภาวะให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
ความสอดคล้องของโครงการกับยุทธศาสตร์และแผนที่เกี่ยวข้อง
โครงการมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2560 – 2564) และแผนพัฒนาจังหวัดน่าน (พ.ศ. 2561 – 2565) ฉบับทบทวน รอบปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จได้ ดังนี้
ผลผลิตของโครงการ | ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฯ | แผนพัฒนาจังหวัดน่านฯ |
ผลผลิตที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานสำหรับประเมินความเปราะบางของเกษตรพื้นที่สูงดีขึ้น | ยุทธศาสตร์ที่ 1 การรวบรวม พัฒนา และสร้างฐานข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะประชารัฐ |
ผลผลิตที่ 2 มีระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงมิติความเท่าเทียมชาย-หญิง ถูกนำไปปฏิบัติ | ยุทธศาสตร์ที่ 1 การรวบรวม พัฒนา และสร้างฐานข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะประชารัฐ และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตการเกษตร |
ผลผลิตที่ 3 ผลิตภัณฑ์การเกษตร มีคุณภาพ มูลค่าและความเชื่อมโยงกับตลาดเพิ่มขึ้น | ยุทธศาสตร์ที่ 3 การมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาให้เกิดการเติบโตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม | ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะประชารัฐ ในทุกกลยุทธ์ |
ผลผลิตที่ 4 ส่วนราชการท้องถิ่นและชุมชนเกษตรมีคุณภาพและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น | ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร | ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน |
จากผลการศึกษาวิเคราะห์กรอบแนวทางการดำเนินโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรฯ และแผนพัฒนาจังหวัดน่านฯ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดของการดำเนินการโครงการให้ชัดเจน นอกจากนี้ การสร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องความหมาย หรือคำกำจัดความของ (Climate Smart Agriculture: CSA) จะทำให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าใจถึงแนวทางการทำการเกษตรที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ และสามารถปรับรูปแบบการทำเกษตรให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
[1] Tamiotti Ludivine, The Robert, Kulacoglu Vesile, Olhoff Anne and Simmons Benjamin, (Trade and Climate Change, Geneva: WTO Secretariat, 2009), อ้างถึงใน บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, “การกำหนดนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์สองระบอบ,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553), 2.